ประโยชน์จากความตกลง RCEP
ความตกลง RCEP เป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 6 ประเทศ รวม 16 ประเทศที่มี GDP รวมกันกว่า 21.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 28 ของโลก มีประชากรกว่า 3.4 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก
ในปี 2557 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP จำนวน 1.27 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 56 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะเดียวกัน มีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP จำนวน 1.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย ในด้านการลงทุน มีเงินลงทุนโดยตรงจากประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศเข้ามาในไทย จำนวน 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การค้าและการลงทุนของไทยกว่าครึ่งต้องพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของ RCEP
ไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP ในเรื่อง
(1) ตลาดที่ใหญ่ขึ้น RCEP ประกอบด้วยประเทศสมาชิกยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย เพียงแค่ 2 ประเทศนี้ก็มีประชากรรวมกันมากกว่า 2 พันล้านคน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุนของไทยมากขึ้น
(2) จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิตของภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศในอาเซียน ขยายเป็น 16 ประเทศ ทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้าของภูมิภาค (Production and distribution network) และ
(3) RCEP จะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และประสานกฎระเบียบ/มาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้นทำให้การค้าการลงทุนในภูมิภาครวมถึงไทยมีการขยายตัวขึ้น
กลไกการเจรจา:
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP หรือ “RCEP Trade Negotiating Committee” (RCEP-TNC) เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจาความตกลงฯ
ต่อมา คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ได้จัดตั้งคณะทำงานและคณะทำงานย่อยรวมทั้งสิ้น 11 คณะ ประกอบด้วยคณะทำงานด้านต่างๆ 7 คณะ และคณะทำงานย่อยซึ่งอยู่ภายใต้คณะทำงานด้านการค้าสินค้า 4 คณะ ได้แก่
(1) คณะทำงานด้านการค้าสินค้า
(2) คณะทำงานด้านการค้าบริการ
(3) คณะทำงานด้านการลงทุน
(4) คณะทำงานด้านการแข่งขัน
(5) คณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา
(6) คณะทำงานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
(7) คณะทำงานด้านกฎหมาย
(8) คณะทำงานย่อยด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า
(9) คณะทำงานย่อยด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
(10) คณะทำงานย่อยด้านมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และ
(11) คณะทำงานย่อยด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช