การทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็น 0% และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งการทำ FTA จะรวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการ (Services) และการลงทุนด้วย
ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าการค้าเสรีก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้วัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตจากแหล่งต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อให้ได้ผลผลิตสู่ตลาดในราคาถูกได้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ในโลกที่เป็นจริงทุกประเทศมีการคุ้มกันการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศของตน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงกว่าในระบบการค้าเสรี
การทำเขตการค้าเสรีจึงมีผลกระทบทั้ง 2 ด้าน คือ ในด้านบวกและด้านลบ โดยประเมินผลกระทบในเบื้องต้นจากการศึกษาวิเคราะห์ ได้ดังนี้
1. ผลกระทบในด้านบวก
1.1 ทำให้มีการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
· การจัดทำ FTA จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าลดต่ำหรือเป็น 0 ในที่สุด จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าในอันที่จะทำให้มีการขยายการค้าในระหว่างประเทศที่ทำ FTA มากขึ้น จากผลการศึกษา คาดว่า ปริมาณการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.19, 19.17, และ 63.33 ตามลำดับ ทั้ง 3 ตลาดเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรจำนวนมากและมีอำนาจซื้อสูง รวมทั้งจีนซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในเอเชียปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นคู่ค้าสำคัญในอนาตค
· สินค้าที่มีโอกาสจะขยายตลาดได้มาก ได้แก่
- ยานยนต์และชิ้นส่วน
- อาหารและผลิตภัณฑ์
- สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป
- ข้าว ยาง มันสำปะหลัง กุ้งสด ยางพารา ผลไม้ น้ำตาล
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์
- ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ
- พลาสติก และเคมีภัณฑ์บางประเภท
ฯลฯ
· ด้านบริการที่มีความพร้อม ได้แก่
- ท่องเที่ยว
- สุขภาพ
- ก่อสร้าง ออกแบบ
- Logistic
- บันเทิง
- การซ่อมบำรุง
ฯลฯ
· ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศสูงมาก การทำเขตการค้าเสรีจึงทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และแนวโน้มที่ต่ำลงของค่าเช่าหรือราคาสินค้าทุน จะทำให้เงินทุนและเทคโนโลยีไหลเข้าสู่ไทย มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เร็วขึ้น จากการศึกษาพบว่า การทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน จะทำให้มีการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05, 9.54 และ 0.75 ตามลำดับ
1.2 ทำให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้น
การทำเขตการค้าเสรีทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอุปโภคบริโภคสินค้าได้ในจำนวนมากขึ้น และราคาที่ต่ำลง ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จากผลการศึกษาพบว่าการทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน จะทำให้สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 6,661.0 6,848.0 และ 796 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
1.3 เป็นช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคใกล้เคียง
· อินเดีย เป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศในเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา บังกลาเทศ ฯลฯ
· บาห์เรน เป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง (GCC: บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต)
· เปรู เป็นประตูการค้าสู่ประเทศ MERCOSUR และอเมริกาใต้
1.4 เป็นการแก้ไขและลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน
การจัดทำเขตการค้าเสรี นอกจากจะลดภาษีลงแล้ว จะมีการเจรจาลด/ยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีให้เหลือน้อยที่สุดด้วย ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาพบว่าการเจรจาจัดทำ FTA กับญี่ปุ่นและจีน จะทำให้อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีลด/ยกเลิกไป ส่งผลให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากกรณีนี้ร้อยละ 19.94 และ 4.64 ตามลำดับ
1.5 เป็นการสร้างพันธมิตรที่จะเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทและอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลก
2. ผลกระทบในด้านลบ
ผู้ผลิตในบางอุตสาหกรรมและบริการบางสาขาอาจจะมีผลกระทบบ้าง เช่น ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงศักยภาพและมาตรฐานการผลิต ตลอดจนจะเกิดต้นทุนในการปรับตัว (Adjustment Cost) เนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่สาขาที่ไทยมีความพร้อม/ได้เปรียบ และในกรณีที่ไม่สามารถแข่งขันได้ สินค้านี้จำเป็นต้องออกจากธุรกิจไป และหันไปผลิตสินค้าอื่น
สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว ได้แก่
- สินค้าเกษตร (เช่น น้ำมันปาล์ม โคเนื้อ นมและผลิตภัณฑ์นม กระเทียม)
- เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิกส์
- ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม
3. แนวทางในการปรับตัวรองรับการจัดทำ FTA
Ø เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพอุตสาหกรรมให้ได้สินค้าคุณภาพมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องขึ้นมารองรับ เพื่อให้การผลิตมีต้นทุนลดลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
Ø เร่งพัฒนาระบบมาตรฐานทางการค้าของไทย เช่น มาตรฐานสุขอนามัย มาตรฐานสินค้า การตรวจสอบ และสิ่งแวดล้อม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าที่มีมาตรฐานต่ำ และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่สากล
Ø ในกรณีจำเป็น อาจต้องใช้มาตรการคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศและมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศ
Ø เร่งพัฒนากฎระเบียบด้าน Rules of Origin เนื่องจากสินค้านำเข้าจากประเทศนอกกลุ่ม FTA อาจใช้ประเทศสมาชิกเป็นตลาดเข้าสู่ไทย โดยอาศัยจุดอ่อนในการพิสูจน์ Country of Origin
Ø ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนภายใต้ FTA ผ่านกองทุนปรับตัวของ FTA ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ
---------------------------------------
พค./ภร.
มีนาคม 2551