ข่าวการเจรจาการค้าใน WTO รอบโดฮาล้มเหลวแพร่สะพัดออกมาเป็นจังหวะเดียวกับที่อาเซียนมี การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (AMM) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุม AMM จึงเห็นพ้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้บรรลุผลเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี พ.ศ. 2558 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมที่ตั้งไว้ในปี พ.ศ. 2563
ปัจจุบันอาเซียนกำลังดำเนินการเร่งรัดการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สำคัญ 11 สาขา นำร่องซึ่งในส่วนของสินค้าเกษตร/ประมง/ไม้/ยาง/สิ่งทอ/ยานยนต์/อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สาขาสุขภาพ จะใช้มาตรการต่างๆ เป็นกลไก เช่น การเร่งลดภาษีให้เร็วกว่าในกรอบอาฟต้า 3 ปี คือ ต้องขจัดภาษีสินค้าใน 9 สาขาหลักภายในปี พ.ศ. 2550 ส่วนการเปิดตลาดบริการ (ท่องเที่ยว/ การบิน/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สุขภาพ) อนุญาตให้นักลงทุนสัญชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งเข้ามาตั้งกิจการในอีกประเทศหนึ่งโดยถือหุ้นข้างมากได้ คือ ในสัดส่วนร้อยละ 51 ในปี พ.ศ. 2551 และร้อยละ 70 ในปี พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ สำหรับสาขาบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาขานำร่องให้เปิดเสรีภายในปี พ.ศ.2558
นอกจากการลดภาษีแล้ว อาเซียนยังได้ดำเนินการยกเลิกมาตรการและอุปสรรคกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เร่งปรับประสานมาตรฐานสินค้าและจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเริ่มดำเนินการปรับประสานมาตรฐานสินค้า 20 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นต้น
ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างดำเนินงานแผนงานการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญ ในระยะที่ 2 ซึ่งได้มี การปรับปรุงแผนงาน กรอบเวลาและหน่วยงานปฏิบัติให้มีความชัดเจนเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มข้อเสนอใหม่ๆ เช่น การเพิ่มขอบเขตสินค้าที่จะเร่งลดภาษี การส่งเสริมระบบ Green Lane และการลดต้นทุน การใช้แบบ Form D ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ตามลำดับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดทำ Roadmap เพิ่มเติมในสาขาโลจิสติกส์เป็นสาขาที่ 12 ที่จะเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจด้วย
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกการเดินทางในอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มี การลงนามในความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราของอาเซียนแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2549 ข้อตกลงนี้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะกระตุ้นการเดินทางภายในอาเซียนแน่นอน
สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเร่งรัดกำหนดการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากปี พ.ศ. 2563 เป็นปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะยกขึ้นหารือในการประชุม AEM ที่มาเลเซียในระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคมศกนี้ ทังนี้ ในเบื้องต้น ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาในการดำเนินการ เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบความคืบหน้าการรวมกลุ่มในแต่ละด้าน ด้านการค้าสินค้ามีความคืบหน้าที่ชัดเจน ด้านการค้าบริการมีกำหนดเวลาที่จะเปิดเสรีทุกสาขาบริการภายในปีพ.ศ. 2558 ดังนั้น การเร่งรัดการจัดตั้ง AEC เป็นปี พ.ศ. 2558 จึงมีความเป็นไปได้
-------------------------