ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่1กรกฎาคม 2548 โดยมีสินค้าผักและผลไม้เป็นสินค้านำร่องที่ไทยกับจีนยกเลิกภาษีนำเข้าแล้วตั้งแต่ปี 2546 และทยอยยกเลิกภาษีของสินค้าที่เหลือซึ่งรวมแล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด มีอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้ การยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มผักและผลไม้ช่วยให้ไทยสามารถส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเพิ่มมากขึ้น จากเดิม137 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2545 เป็น 1,634 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ขณะที่ไทยนำเข้าผัก/ผลไม้ จำพวก แครอท กะหล่ำปลี แอปเปิ้ล องุ่น จากจีนจาก 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2545 เป็น 781ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ในส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ไทยได้ประโยชน์สามารถส่งออกไปจีนเพิ่มมากขึ้น เช่น ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ประมง แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ เป็นต้น ขณะที่จีนส่งส่วนประกอบและอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เหล็ก เครื่องประดับเงินมาไทยเพิ่มขึ้น สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า ทั้งสองประเทศได้ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งในช่วงเวลาที่เอฟทีเออาเซียน-จีน มีผลใช้บังคับเมื่อ 12 ปีที่แล้วนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์นั่งไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาไทยนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจากจีนเพียง 7 คัน มูลค่ารวม 8.7 ล้านบาท
สำหรับสินค้าที่เหลือ ทั้งสองประเทศจะต้องลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 – 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยสินค้าของฝ่ายไทย เช่น แป้งข้าวสาลี น้ำผลไม้ โพลีเอสเตอร์ ยางรถยนต์ รองเท้ากีฬา ของเล่น กระจก ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ ไมโครเวฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย ยานยนต์ ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป กระดาษ โพลีเอสเตอร์ กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ และถุงลมนิรภัย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าบางรายการที่ทั้งไทยและจีนจะยังคงเก็บภาษีสูงต่อไป แต่อัตราจะไม่เกินร้อยละ 50 ครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการ ที่มีโควต้าภาษี (เช่น นม ครีม มันฝรั่ง กระเทียม และไหมดิบ เป็นต้น) ยานยนต์และชิ้นส่วน หินอ่อน และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น ข้าวโพด ข้าว พืชน้ำมัน น้ำตาล กระดาษด้ายใยสังเคราะห์ กระดาษแข็ง เป็นต้น
การจัดทำเอฟทีเออาเซียน – จีน ทำให้ไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากจีน โดยไทยสามารถส่งสินค้าหลายรายการที่ไทยมีศักยภาพไปจีนได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกของไทย ในปี 2547 ก่อนเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ ไทยส่งออกสินค้าไปจีนมูลค่า 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2559 ไทยส่งออกเพิ่มมากขึ้นเป็น 23.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ เม็ดพลาสติก ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้ แผงวรจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป และข้าว นอกจากนี้ ยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบจำพวกเคมี เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ ได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของไทย โดยในปี 2560 (มกราคม – กันยายน) การค้าระหว่างไทย – จีน มีมูลค่า 53.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีน 21.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีนมูลค่า 32.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในปี 2561 ที่กำลังจะมาถึง จีนและอาเซียนรวมทั้งไทย กำลังจะก้าวสู่การลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อย่างเต็มรูปแบบหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มลดภาษีระหว่างกันตั้งแต่ปี 2547 และได้ทยอยลดภาษีลงแล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยจัดกลุ่มการลดภาษีออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
(1) สินค้านำร่อง ได้แก่ ผัก ผลไม้ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์นมและไข่ เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายลดภาษีเหลือศูนย์แล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 400 และสินค้าประมง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 290 เป็นต้น
(2) สินค้าปกติ มีจำนวนร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายลดภาษีเหลือศูนย์แล้วตั้งแต่ ปี 2553 โดยสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 120 ส่วนประกอบเลเซอร์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 2,000 ของผสมน้ำยางธรรมชาติและน้ำยางสังเคราะห์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 120 ตัวประมวลผลวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 110 และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 45 เป็นต้น
(3) สินค้าอ่อนไหว ซึ่งเป็นสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเวลาปรับตัว จึงมีระยะเวลาการลดและยกเลิกภาษีนานกว่าสินค้าปกติ โดยลดอัตราภาษีลงเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะต้องลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น แป้งข้าวสาลี น้ำผลไม้ โพลีเอสเตอร์ ยางรถยนต์ รองเท้ากีฬา ของเล่น กระจก ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ ไมโครเวฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป กระดาษ โพลีเอสเตอร์ กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ และถุงลมนิรภัย เป็นต้น โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ใบยาสูบ กาแฟ ฝ้าย สับปะรดแปรรูป และโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น
4) สินค้าอ่อนไหวสูง มีจำนวนรายการสินค้าไม่เกินร้อยละ 40 หรือ 100 รายการของสินค้าอ่อนไหวทั้งหมด (พิกัดศุลกากร 6 หลัก) แล้วแต่ว่าเงื่อนไขใดส่งผลให้มีรายการสินค้าอ่อนไหวสูงน้อยกว่า โดยสามารถคงอัตราภาษีไว้ได้จนถึง 1 มกราคม 2558 หลังจากนั้น ต้องลดภาษีมาอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 50 โดยครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการที่มีโควตาภาษี (อาทิ นม ครีม มันฝรั่ง กระเทียม ไหมดิบ) หินอ่อน เป็นต้น และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น ข้าวโพด ข้าว พืชน้ำมัน น้ำตาล กระดาษ ด้ายใยสังเคราะห์ กระดาษแข็ง เป็นต้น
Link ที่เกี่ยวข้อง
-ASEAN-China Business Portal